มท.1 ลงพื้นที่อุบลฯ ตรวจน้ำท่วม กำชับชัด หาน้ำดื่ม ห้องน้ำ ให้ผู้ประสบภัย

มท.1 ลงพื้นที่น้ำท่วมอุบลฯ เยี่ยมชุมชนบ้านกุดเป่ง อ.วารินชำราบ กำชับผู้ว่าฯ ดูแลส่งอาหาร น้ำดื่ม ให้ผู้ประสบภัยต้องทั่วถึงอย่าได้ขาด รวมทั้งจัดหาห้องน้ำทั้งในศูนย์พักพิงและคนที่ยังอยู่ในบ้าน

เมื่อวันที่ (18 ต.ค. 65) พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีติดตามสถานการณ์น้ำท่วม เดินทางมาถึงท่าอากาศยานทหารกองบิน 21 และรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ ณ ห้องรับรองสนามบิน โดย นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนออกเดินทางจากสนามบินกองบิน 21 โดยรถยกสูง กรม ปภ. ไปเยี่ยมชุมชนบ้านกุดเป่ง เทศบาลเมืองวารินชำราบ อ.วารินชำราบ ซึ่งประสบอุทกภัยที่ ณ ศูนย์อพยพโรงเรียนชุมชนบ้านกุดเป่ง พร้อมพบปะกับประชาชนที่ประสบอุทกภัย

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ตนเป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีมาส่งความห่วงใยพี่น้องประชาชน ปีนี้น้ำท่วมอุบลราชธานีไม่เหมือนปี 62 เพราะอุบลราชธานีมีทั้งฝนในพื้นที่ และเป็นที่รองรับน้ำจากทั้งแม่น้ำชี และแม่น้ำมูลตอนบนอีก ดังนั้นอุบลราชธานีต้องเผชิญน้ำท่วมอีกนาน ด้วยความเป็นห่วงประชาชนที่ประสบอุทกภัยในด้านความเป็นอยู่ ตนจึงต้องลงมาดูแล และได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีการจัดการดูแลการดำรงชีวิตของผู้ประสบอุทกภัยให้ทั่วถึง ต้องส่งอาหาร น้ำดื่ม ให้ประชาชนอย่าได้ขาด ดูแลเรื่องห้องน้ำของประชาชนทั้งในศูนย์พักพิงและที่ยังอยู่ที่บ้าน ต่อจากนั้นต้องเร่งสูบน้ำที่ท่วมขัง ไม่งั้นชาวบ้านจะต้องอยู่กับน้ำเสีย เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะดำเนินการซ่อมบ้าน และดูแลเรื่องการทำการเกษตรในปีต่อไป โดยจะมีมาตรการดูแลพิเศษให้

ทั้งนี้ระหว่างการพบปะประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังได้สอบถามความต้องการ และการได้รับความช่วยเหลือจากประชาชนที่ประสบอุทกภัยอย่างใกล้ชิด โดยนางสาวอัจจิมา สาระคำ อายุ 32 ปี ชาวชุมชนกุดเป่ง หมู่ 6 เทศบาลเมืองวารินชำราบ เผยว่าบ้านตนถูกน้ำท่วมมาร่วม 1 เดือนแล้ว งานก็ไม่ได้ไปทำเพราะน้ำท่วมเดินทางลำบาก จึงอยากให้มีการดูแลเรื่องอาหารปรุงสุกให้ได้ทุกวัน วันละครั้งก็ได้ เพราะครอบครัวตนมีกันถึง 8 ชีวิต ถุงยังชีพก็ได้บ้าง แต่ยังขาดแคลนอาหารปรุงสุก เพื่อจะได้ลดค่าใช้จ่าย ลดความเดือดร้อนในช่วงนี้ด้วย

ภายหลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีการกำชับพื้นที่ให้เข้ามาดูแลประชาชนให้ทั่วถึง ให้มีการจัดการให้ดีขึ้น จากนั้นได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากบ้านฮ่องอ้อ ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราวดอนปูตา เทศบาลตำบลท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยในพื้นที่เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร ตามลำดับ

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 19 อำเภอ จากทั้งหมด 25 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ เดชอุดม นาจะหลวย น้ำยืน ทุ่งศรีอุดม น้ำขุ่น ม่วงสามสิบ ตาลสุม เขื่องใน ดอนมดแดง ตระการพืชผล พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ เหล่าเสือโก้ก สำโรง นาเยีย สิรินธร และอำเภอบุณฑริก แยกเป็น ด้านการดำรงชีพ ได้รับผลกระทบ 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ ดอนมดแดง ตระการพืชผล เดชอุดม สำโรง เขื่องใน ตาลสุม ทุ่งศรีอุดม และอำเภอสิรินธร จำนวน 42 ตำบล 253 หมู่บ้าน 18,178 ครัวเรือน 78,553 คน ถนน 157 สาย สะพาน/คอสะพาน 11 แห่ง วัด/ที่พักสงฆ์ จำนวน 82 แห่ง รพ.สต. 7 แห่ง โรงเรียน 52 แห่ง

อพยพ จำนวน 253 หมู่บ้าน 11,248 ครัวเรือน 34,137 คน แยกเป็น ศูนย์พักพิงชั่วคราว 117 จุด จำนวน 5,465 ครัวเรือน 18,960 คน พักบ้านญาติ จำนวน 2,640 ครัวเรือน 6,914 คน และอพยพขึ้นที่สูง 3,143 ครัวเรือน 8,263 คน

จังหวัดอุบลราชธานี ได้ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) แล้ว 18 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ เดชอุดม นาจะหลวย น้ำยืน ทุ่งศรีอุดม น้ำขุ่น ม่วงสามสิบ ตาลสุม เขื่องใน ดอนมดแดง ตระการพืชผล พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ เหล่าเสือโก้ก สำโรง นาเยีย และ อำเภอบุณฑริก ปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำมูลมีแนวโน้มลดลง โดยที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย เทศบาลนครอุบลราชธานี วัดระดับน้ำได้ 116.37 ลดลง 7 เซนติเมตรจากเช้าวานนี้ (17 ต.ค.) แต่ยังล้นตลิ่งอยู่ 4.37 เมตร อัตราการไหลของน้ำ 5,605 ลบ.ม./วินาที


ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2530081