แม่น้ำชีล้นตลิ่งร้อยเอ็ด ขยายวงถึง อ.เชียงขวัญ

น้ำท่วมร้อยเอ็ดกระทบ 15 อำเภอ ล่าสุด แม่น้ำชีที่บ้านวังยาว-วังเจริญ ต.พลับพลา อ.เชียงขวัญ ล้นตลิ่งท่วมหมู่บ้าน 150 ครัวเรือน นาข้าวเสียหาย ชาวบ้านอาศัยถุงยังชีพประทังชีวิต น้ำก็ต้องซื้อดื่ม

จากกรณีเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ลดการระบายน้ำ เหลือเป็น 52 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ประกอบกับแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เกินปริมาณกักเก็บในหลายแห่ง ส่งผลให้มวลน้ำชีล้นตลิ่งจนเกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ล่าสุดได้ประกาศให้เป็นพื้นที่อุทกภัย รวม 15 อําเภอ 93 ตําบล 743 หมู่บ้าน 14,615 ครัวเรือน ถนน 7 สาย วัด 30 แห่ง โรงเรียน 13 แห่ง รพ.สต. 4 แห่ง ศูนย์เด็กเล็ก 1 แห่ง เกษตรกรได้รับผลกระทบ 27,691 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 306,657 ไร่ ทั้งนี้ แม้พนังกั้นลำน้ำชีของบ้านสะดำศรี ตำบลลำชี อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ จะขาดลงแต่ก็เป็นเพียงการตัดยอดน้ำ แต่มวลน้ำที่ไหลเข้าพื้นที่อำเภอจังหาร ล่าสุดได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและชุมชนลุ่มต่ำติดแม่น้ำชีในอำเภอโพธิ์ชัยและอำเภอเชียงขวัญ

ล่าสุด สถานีบ้านม่วงลาด อ.จังหาร ระดับแม่น้ําชีสูงกว่าตลิ่ง 1.87 ม. (-50 ซม.) สถานีบ้านวังยาว-หนองแก่ง อ.เชียงขวัญ สูงกว่าตลิ่ง 2.01 ม. (+0.4 ซม.) และสถานีบ้านท่าสะแบง อ.ทุ่งเขาหลวง สูงกว่าตลิ่ง 1.12 ม. (+0.6 ซม.) โดยมวลน้ำก้อนใหญ่ได้ไหลเข้าสู่พื้นที่อำเภอเชียงขวัญ ส่งผลให้น้ำท่วมในพื้นที่ 3 ตําบล 9 หมู่บ้าน 185 ครัวเรือน ได้แก่พื้นที่ ต.เชียงขวัญ ต.พระธาตุ ต.พลับพลา โดยมีประชาชนเข้าไปอยู่ศูนย์พักพิงแล้ว 9 จุด ริมถนนแนวกั้นคันพนังแม่น้ำชี

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 18 ต.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยัง บ้านวังยาว-วังเจริญ ตำบลพลับพลา อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อตรวจสอบสถานการณ์น้ำล่าสุดพบว่า มวลน้ำชีที่ล้นตลิ่งได้ท่วมหมู่บ้าน จำนวน 150 ครัวเรือน

สอบถามชาวบ้าน กล่าวว่า มวลน้ำชีได้เริ่มทะลักเข้าท่วมหมู่บ้าน ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคม ซึ่งน้ำเริ่มท่วมจากถนนเส้นท้ายของหมู่บ้านและเริ่มขยายวงกว้าง จนเหลือเพียงถนนคอสะพาน ที่สร้างเพิงพักอาศัย ซึ่งชาวบ้านเองก็ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากนาข้าวที่ได้ทำเสร็จไปก็ถูกน้ำท่วมติดต่อกัน ไม่มีข้าวไว้กินในครัวเรือน ก็ต้องออกหาปลาก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง ต้องอาศัยถุงยังชีพเพื่อหุงหาอาหารประทังชีวิต ซึ่งระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะต้องข้ามสะพานไปสร้างเพิงพักใหม่ ส่วนเรื่องอุปโภคบริโภคชาวบ้านก็ไม่สามารถใช้สุขาได้ตามปกติ น้ำดื่มก็ต้องซื้อกินแบบถังต้องอาศัยเรือของกู้ภัยเพราะน้ำท่วมสูง ก็อยากให้จัดสุขาเคลื่อนที่และน้ำดื่มให้ชาวบ้านด้วย


ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2529611